วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

25/07/2010

เช้าวันแรกของลำปาง ตื่นแต่เช้า เห็นว่ากันว่าร้านข้าวซอยข้างๆโรงแรมอร่อยมาก ก็แวะไปชิม ในร้านก็มีทั้งข้าวซอยมีหลากหลายเมนู มีขนมปังหน้าหมู หมูสะเต๊ะ เราก็ลองทุกเมนู ขอบอกว่าอร่อยมากๆ ทุกเมนู (จริง ๆ)

@ วัดไหล่หินหลวง ลำปาง
จากนั้นก็ออกเดินทางไปที่วัดไหล่หิน อำเภอเกาะคา ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม เป็นวัดที่มีความเก่าแก่ในจังหวัดลำปาง และเป็นวัดที่มีคัมภีร์เก่าแก่ของล้านนาเก็บเอาไว้ วัดโบราณส่วนใหญ่ก็จะมีลานโล่งด้านหน้า มีเงาของแมกไม้มาปกคลุม  ส่วนในวัดทางล้านนาจะไม่มีศาลาการเปรียญ วัดไหล่หินถือว่าเป็นวัดที่มีระเบียบล้านนาแท้  ๆ ภายในไม่มีการตีฝ้าแต่จะแสดงให้เห็นถึงโครงสร้าง   ในส่วนทางเข้าของอาคารก็มีการวางจังหวะของอาคารแต่ละหลัง เพื่อที่จะนำเข้าไปสู่อาคารหลัก และบริเวณสำคัญที่สำคัญของวัดนี้ก็คือ กำแพงแก้ว วิหาร ที่มีการรื้อถอนสิ่งเก่า ๆ ออกไป แล้วทำการบูรณะใหม่


บรรยากาศภายในก็ดูสงบดี มีพื้นทรายที่เรียบง่าย มีการประดับประดาโครงสร้างจากช่างฝีมือในสมัยก่อน ดูภายนอกก็คิดว่ามันสวยดี แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปแล้ว การที่บูรณะใหม่นั้น อาจทำให้คุณค่านั้นลดลง เพราะสิ่งใหม่นั้นสัดส่วนก็ไม่เข้ากับของเดิม ช่างสมัยใหม่ก็คิดถึงแต่ประโยชน์ใช้้สอยเพียงอย่างเดียว ไม่คิดถึงคุณค่าของอาคารเก่า



อาจารย์จิ๋วได้กล่าวว่า การออกแบบที่ดีนั้น ต้องคำนึงถึงสเกลและสัดส่วนของเดิม สร้างความกลมกลืน ทำให้อาคารนั้นมีคุณค่า ต้องอนุรักษ์เอาไว้ ต้องเข้าใจบริบทของอาคารโบราณสถาน วัสดุท้องถิ่น รูปร่างของอาคาร และถ่ายทอดให้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด

ต่อจากนั้นก็ออกเดินทางไปวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดไหล่หินมากนัก
@ วัดพระธาตุลำปางหลวง ลำปาง
แวะกินข้าวเที่ยงที่วัดพระธาตุลำปางหลวง มีพื้นที่อเนกประสงค์ ถือเป็น public space และมีสระน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เกิดบรรยากาศที่สงบและดูน่าเกรงขาม

บรรยากาศรอบวัดพระธาตุลำปางหลวง

วัดพระธาตุลำปางหลวง ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีพระธาตุ คือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมา และวัดพระธาตุลำปางหลวงนั้น เริ่มมีการบูรณะครั้งใหญ่ ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ
ซุ้มประตูทางเข้า
จากการมองเห็นลักษณะการเรียงตัวของอิฐที่เป็นกำแพงยาว มาจนถึงตรงกลางเป็นซุ้มประตู และปรับบริเวณ ขยายเส้นตั้งของบันได เหมือนเป็นจุดเปลี่ยนของพื้นที่นั้น ๆ ลายธรรมจักรที่อยู่ตรงซุ้มประตู หมายถึง ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ที่เกิดเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  และมีลายเครือเถา ซึ่งเป็นลายที่แสดงถึงความเป็นล้านนาของแท้


ลายหน้าบรรณได้ถูกซ่อมแซมในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีการรื้อลายเดิมออก กลายเป็นลายของภาคกลาง แต่ยังรักษาตำแหน่งของอาคารเดิม เจดีย์ของล้านนานั้น จะเป็นรั้วล้อมรอบ และห้ามให้ผู้หญิงเข้าไปภายใน

หลังจากเยี่ยมชมความงามของวัดพระธาตุลำปางหลวงแล้ว ก็ออกเดินทางต่อไปที่วัดปงยางคก
@ วัดปงยางคก ลำปาง
ก่อนที่จะเข้าไปในวัด ก็มีลานโพธิ์ที่มีขนาดใหญ่ เพราะสถานที่แห่งนี้นั้นมีประวัติคือ เป็นที่เกิดของวีรบุรุษคนสำคัญที่สามารถปลดแอกพม่าได้ และนำเอาหน่อ ก้านของต้นโพธิ์จากลังกามาปลูก ซึ่งถือเป็นต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ นำมาปลูกร่วมกับต้นตาล ซึ่งต้นตาลก็มีลักษณะเป็นเส้นตั้ง ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างต้นโพธิ์และต้นตาล เรียกลานนี้ว่าลานโพธิ์

บรรยากาศบริเวณลานโพธิ์


เดินไปอีกนิดก็ถึงวัดปงยางคก อ.ห้างฉัตร
วัดปงยางคกถือว่าเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และเป็นวิหารโถงที่เดียวของประเทศไทย ทั้งลานโพธิ์และวิหาร กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ให้เป็น Cultural Landscape ที่มีองค์ประกอบที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

วิหารโถง
ส่วนภายในวิหารโถงก็มีการตกแต่งแวววาว และมีการลดทอนการตกแต่งไม้ให้มีความสำคัญที่แตกต่างกันไป
สเกต ภายในวิหารโถง




การตกแต่งภายในของวิหารโถงนั้น จะลดทอนความสำคัญลงมาเรื่อย ๆ จะให้ความสำคัญที่สุดคือส่วนหลังคา มีการประดับตกแต่งลวดลาย มาถึงเสาที่ประดับลวดลายลดน้อยลง จนแสดงให้เห็นวัสดุคือไม้ และจากผนังที่ปิดกั้นก็กลายเป็นพื้นที่ที่เปิดโล่ง มีลักษณะเป็นเรขาคณิต แล้วต่อด้วย special form (ที่ว่างของพื้นที่นั้นถูกกำหนดด้วยระนาบ) ซึ่งเป็นการออกแบบที่มีลูกเล่น สามารถนำไปใช้ได้กับงานสมัยใหม่ได้..

ออกเิดินทางต่อ...หลับไปสักพัก...เอ้าลงงง
@ หมู่บ้านพื้นถิ่น ลำปาง
แวะไปตามบ้านเรือนแบบพื้นถิ่นที่อยู่สองฝั่งถนน ได้เห็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ การวางผังของบ้าน การใช้พื้นที่ต่าง  ๆ ให้เกิดประโยชน์ ที่สะดุดตาก็รู้สึกจะเป็น "ฝาไหล" ที่เปิด-ปิดได้ ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน สามารถเปิดให้ลมเข้าได้ และในขณะเดียวกันก็เป็นผนังบ้านได้ด้วย ถือว่าเป็นความคิดของคนโบราณที่ร่วมสมัยเลยทีเดียว

บ้านพื้นถิ่น
บ้านแต่ละหลังก็จะมีความพิเศษแตกต่างกันไป 

เดินผ่านหลายบ้าน เข้าไปถ่ายรูป ทำให้นึกไปถึงสมัยก่อนว่าสภาพแวดล้อมก็คงจะอุดมสมบูรณ์ การใช้ชีวิตของคนโบราณก็เรียบง่าย เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ แล้วนำสิ่งที่มีอยู่รอบ  ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ มีบ้านอยู่หลังหนึ่งซึ่งตอนแรกอ.จิ๋วก็นำพวกเราเข้าไปถ่ายรูป แต่พอเห็นหลังคา..เป็นหลังคาลอนคู่ อ.จิ๋วก็เดินออกไป แล้วบอกว่า "ไม่สวยแล้วๆ เปลี่ยนหลังคาใหม่แล้ว" สังกะสีถือว่ามีอิทธิพลกาับการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก จริง ๆ แล้วถ้าชาวบ้านเห็นถึงความงามก็คงจะเก็บหลังคานั้นไว้ แต่ด้วยความที่เทคโนโลยีก็เริ่มเข้ามามีบทบาท และยังสะดวกในหลาย  ๆ ด้าน ก็ทำให้วัสดุที่เคยใช้นั้นเริ่มเลือนหายไป..

ส่วนเพดานของบ้าน การเชื่อมต่อของแต่ละส่วน
แต่ก็ยังมีบ้านที่เป็นลักษณะนี้ให้เห็นอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่จะยกใต้ถุนบ้าน เพื่อใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ อย่าง รวมถึงการเล่นระดับภายใน ซึ่งในแต่ละบ้านก็มีความละเอียดที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ความคิดของเจ้าของบ้าน ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าจะนำไปใช้ในการออกแบบได้เช่นกัน ^^

พื้นที่ในห้องครัว มีการใช้แสงจากธรรมชาติด้วย
พอแดดหมดก็นั่งรถกลับที่พัก..เพื่อตื่นตอนเช้าเหมือนเดิม

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น